ad left side

วันอังคารที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2557

คําสั่ง คสช. ฉบับที่ 112/2557 เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาการพัฒนาระบบนวัตกรรมของประเทศ

         คําสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 112/2557
         เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาการพัฒนาระบบนวัตกรรมของประเทศ



         เพื่อให้การพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศ ก้าวสู่สังคมและเศรษฐกิจฐานความรู้และการสร้างสรรค์ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยเน้นการยกระดับความรู้ความสามารถของบุคคล
และผู้ประกอบการ ปรับปรุงกลไกสนับสนุนของภาครัฐให้เอื้อต่อการสร้างนวัตกรรมของภาคเอกชน
ทั้งด้านเทคโนโลยี การเงินและการตลาด รวมถึงการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
เพื่อการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถ
ในการแข่งขัน และสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม นําพาประเทศไปสู่
ระดับประเทศที่พัฒนาแล้วภายในเวลาสิบปี หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงแต่งตั้งคณะกรรมการ
ที่ปรึกษาการพัฒนาระบบนวัตกรรมของประเทศ โดยมีองค์ประกอบและอํานาจหน้าที่ ดังนี้


         ข้อ 1 ให้บุคคลต่อไปนี้ เป็นกรรมการที่ปรึกษาการพัฒนาระบบนวัตกรรมของประเทศ


         (1) หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ประธานกรรมการ

         (2) รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กรรมการ
และหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ

         (3) รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กรรมการ
และหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ

         (4) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กรรมการ

         (5) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กรรมการ

         (6) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรรมการ

         (7) เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจ กรรมการ
และสังคมแห่งชาติ

         (8) ผู้อํานวยการสํานักงบประมาณ กรรมการ

         (9) เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กรรมการ

         (10) เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ กรรมการ
เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ

         (11) นายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการ

         (12) นางกอบกาญจน์ สุริยสัตย์ วัฒนวรางกูร กรรมการ

         (13) ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล กรรมการ

         (14) นายไพรัช ธัชยพงษ์ กรรมการ

         (15) นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ กรรมการ

         (16) นายศักรินทร์ ภูมิรัตน กรรมการ

         (17) ผู้อํานวยการสํานักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ กรรมการและเลขานุการ
และเทคโนโลยีแห่งชาติ

         (18) ผู้แทนสํานักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ ผู้ช่วยเลขานุการ
เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ

         (19) ผู้แทนสํานักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ผู้ช่วยเลขานุการ

         (20) ผู้แทนสํานักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ผู้ช่วยเลขานุการ
(องค์การมหาชน)


         ข้อ 2 ให้คณะกรรมการ มีอํานาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

         (1) รวบรวม ศึกษาวิเคราะห์สถานภาพและข้อจํากัดของระบบนวัตกรรมและความสามารถของประเทศในการก้าวสู่สังคมฐานความรู้และการสร้างสรรค์ ซึ่งรวมถึง การพัฒนาคนไทยให้มีความสามารถในการคิดค้นสร้างสรรค์สิ่งใหม่ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่จําเป็นต่อภาคการผลิต บริการ และภาคสังคม โครงสร้างทางด้านการเงินและการลงทุน การวิจัยและพัฒนา มาตรฐานของผลิตภัณฑ์และบริการ การพัฒนากําลังคน ที่เอื้อต่อการพัฒนาความเข้มแข็งของภาคเอกชน และข้อจํากัดจากกฎหมายต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา


         (2) จัดทําข้อเสนอแนะประเด็นเชิงนโยบายและมาตรการเร่งด่วนที่ต้องดําเนินการ รวมทั้งข้อเสนอแนะเพื่อพัฒนาหรือปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการจัดการด้านนวัตกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา การจัดการทรัพย์สินทางปัญญา การพัฒนากําลังคน การสร้างแรงจูงใจต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้ภาคเอกชนลงทุนในกิจกรรมวิจัยและพัฒนามากขึ้น รวมทั้งการปรับโครงสร้างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เป็นกลไกขับเคลื่อนการพัฒนาท่ยั่งงยืน


         (3) จัดทําข้อเสนอแนะกลไกการเชื่อมโยงโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของประเทศและตลาดภาครัฐ เข้ากับการพัฒนาความเข้มแข็งของภาคการผลิตและบริการของประเทศด้วยการให้แรงจูงใจทางภาษี การให้ความช่วยเหลือจากรัฐในด้านการเงินและการระดมทุน ให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ


         (4) เชิญผู้เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทํางานตามความเหมาะสมข้อเสนอแนะตาม (2) และ (3) และข้อเสนอแนะอื่น ๆ ให้เสนอต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เพื่อประโยชน์ในการเชื่อมโยงและประสานงานตามข้อเสนอแนะดังกล่าวกับคณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสภาปฏิรูปแห่งชาติ


         ข้อ 3 เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติให้ความเห็นชอบข้อเสนอแนะตามข้อ 2 แล้ว ให้เสนอข้อเสนอแนะดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือสภาปฏิรูปแห่งชาติ แล้วแต่กรณี เพื่อพิจารณาดําเนินการต่อไป ทั้งนี้ เพื่อให้กลไกที่พัฒนาขึ้นบังเกิดผลต่อไป ทั้งในระยะเร่งด่วนและในระยะยาว


         ข้อ 4 ให้สํานักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อํานวยความสะดวกในการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ สําหรับการเบิกจ่ายเบี้ยประชุม และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการอื่น ๆ ที่จําเป็นต่อการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ โดยอัตราเบี้ยประชุมและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง ให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบของราชการ และให้เบิกจ่ายจากงบประมาณของสํานักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ


         ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป


         สั่ง ณ วันที่ 5 สิงหาคม พุทธศักราช 2557

         พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
         หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น