ad left side

วันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559

แถลงการณ์สำนักพระราชวัง เรื่อง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร รามาธิบดีจักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราชบรมนาถบพิตร สวรรคต

ประกาศสำนักพระราชวัง

สำนัก พระราชวัง ได้ออกประกาศเรื่อง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร สวรรคต


          เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 สำนักพระราชวัง ได้ออกประกาศเรื่อง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร สวรรคต 
         พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปประทับรักษาพระอาการประชวร ณ โรงพยาบาลศิริราช ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 3 ตุลาคม พุทธศักราช 2557 ตามที่สำนักพระราชวังได้แถลงให้ทราบเป็นระยะแล้วนั้น
        แม้คณะแพทย์ได้ถวายการรักษาอย่างใกล้ชิดจนสุดความสามารถ แต่พระอาการประชวรหาคลายไม่ ได้ทรุดหนักลงตามลำดับ ถึงวันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พุทธศักราช 2559 เวลา 15 นาฬิกา 52 นาที เสด็จสวรรคคต ณ โรงพยาบาลศิริราช ด้วยพระอาการสงบ สิริพระชนมพรรษาปีที่ 89  ทรงครองราชสมบัติได้ 70 ปี


พระราชประวัติ

พระราชประวัติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร


         พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2470 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่เก้าแห่งราชวงศ์จักรี เสด็จขึ้นครองราชสมบัติตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2489 จึงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้เสวยราชย์นานที่สุดในโลก และยาวนานที่สุดในประเทศไทย
ครั้งทรงพระเยาว์
         พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชสมภพในราชสกุลมหิดลอันเป็นสายหนึ่งในราชวงศ์จักรี ณ โรงพยาบาลเมาต์ออเบิร์น เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา เมื่อวันจันทร์ เดือนอ้าย ขึ้น 12 ค่ำ ปีเถาะ นพศก จุลศักราช 1289 ตรงกับวันที่ 5 ธันวาคม 2470 ด้วยขณะนั้นสมเด็จพระบรมราชชนกและสมเด็จพระบรมราชชนนีกำลังทรงศึกษาวิชาการ อยู่ที่สหรัฐอเมริกา


         ทรงเป็นพระโอรสองค์ที่สาม ในสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ (สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในกาลต่อมา)และหม่อมสังวาลย์ มหิดล ณ อยุธยา(สกุลเดิมตะละภัฏ, สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีในกาลต่อมา) มีพระนามเมื่อแรกประสูติอันปรากฏในสูติบัตรว่า เบบีสงขลา (อังกฤษ: Baby Songkla) ต่อมาได้รับพระราชทานพระนามว่า พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลเดช ซึ่งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงออกพระนามเรียกพระองค์เป็นการลำลอง ว่า “เล็ก” ทรงมีสมเด็จพระเชษฐภคินีและสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช 2 พระองค์คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล


         พระนาม ภูมิพลอดุลเดช นั้น สมเด็จพระบรมราชชนนีได้รับพระราชทานทางโทรเลขจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้า อยู่หัว เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2470 โดยทรงกำกับตัวสะกดเป็นอักษรโรมันว่า “Bhumibala Aduladeja” ทำให้สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเข้าพระทัยว่าได้รับพระราชทานนามพระ โอรสว่า “ภูมิบาล” ในระยะแรกพระนามของพระองค์สะกดเป็นภาษาไทยว่า “ภูมิพลอดุลเดช” ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเขียนว่า “ภูมิพลอดุลยเดช” โดยทรงเขียนทั้งสองแบบสลับกันไปจนมาทรงนิยมใช้แบบหลังซึ่งมีตัว “ย” ตราบปัจจุบัน


         เมื่อพ.ศ.2471 ได้เสด็จพระราชดำเนินกลับประเทศไทยพร้อมสมเด็จพระบรมราชชนก ซึ่งทรงสำเร็จการศึกษาปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิตเกียรตินิยมจากมหาวิทยาลัย ฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนี สมเด็จพระเชษฐภคินี และสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช โดยประทับ ณ วังสระปทุม ต่อมาวันที่ 24 กันยายน 2472 สมเด็จพระบรมราชชนกเสด็จสวรรคตขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระ ชนมพรรษาไม่ถึง 2 พรรษา



การศึกษา
         พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเข้าศึกษาที่โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย เมื่อทรงพระชนมพรรษาได้ 4 พรรษา ครูประจำชั้นของพระองค์เป็นนางชีคาทอลิกคณะอุรุสิลิน(เซนต์เออร์ชูล่า) ชื่อ ซิสเตอร์มารี เซเวียร์ กล่าวไว้ว่า “ฉันจะไม่มีวันลืมเจ้านายพระองค์น้อยที่เฉลียวฉลาดและทรงมีจิตใจดีอย่าง เหลือเชื่อ ซึ่งเสด็จมาทรงเข้าชั้นเรียนร่วมกับเด็กๆ ชาวไทยคนอื่นเลย แม้วันแรกๆ ที่เสด็จมาโรงเรียนยังสังเกตเห็นได้ว่า ทรงมีพรสวรรค์ทางดนตรี แต่ก็ทรงเรียนวิชาอื่นๆ อย่างสบาย ทรงกระตือรือร้นสนพระทัยและเอาพระทัยใส่ในทุกสิ่งรอบพระองค์”


         จนถึงเดือนพฤษภาคม 2476 จึงเสด็จพระราชดำเนินไปประทับ ณ เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนี สมเด็จพระเชษฐภคินี และสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช เพื่อการศึกษาและพระพลานามัยของสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช จากนั้นทรงเข้าศึกษาต่อชั้นประถมศึกษา ณ โรงเรียนเมียร์มองต์ เมืองโลซาน ในเดือนกันยายน พ.ศ.2477 เป็นเวลา 2 ปี ก่อนที่จะทรงเข้าศึกษาที่โรงเรียนแห่งใหม่ ณ เมืองไชยี โดยทรงเป็นนักเรียนไปมาก่อนในตอนแรก แล้วจึงทรงเป็นนักเรียนประจำที่ได้กลับบ้านเสาร์อาทิตย์ ซึ่งโรงเรียนดังกล่าวอยู่ใกล้เมืองโลซาน


         พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงศึกษาภาษาฝรั่งเศส ซึ่งเป็นภาษาของทวีปยุโรปที่ทรงถนัดที่สุด ส่วนภาษาอังกฤษนั้นทรงเรียนในภายหลังต่อมา สำหรับภาษาไทยทรงมีพระอาจารย์ถวายการสอนเป็นพิเศษที่ที่ประทับ ขณะพระชนมพรรษา 8 พรรษา ทรงได้รับอนุญาตให้ทรงจักรยานไปโรงเรียนและทรงเรียนดนตรีได้ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเล่าว่า “ทรงมีพระกระแสเสียงใสมาก”


         จากนั้นทรงศึกษาวิชาภาษาฝรั่งเศสภาษาเยอรมันและภาษาอังกฤษ แล้วทรงเข้าศึกษาชั้นมัธยมศึกษา ณ “โรงเรียนแห่งใหม่ของซืออีสโรมองด์” (ฝรั่งเศส: École Nouvelle de la Suisse Romande,เอกอลนูแวลเดอลาซืออีสโรมองด์) เมืองแชลลี-ซูร์-โลซาน (ฝรั่งเศส: Chailly-sur-Lausanne)



สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชเสด็จขึ้นครองราชย์
         เมื่อพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชเสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 8 แห่งราชวงศ์จักรี พระองค์ก็ได้รับการสถาปนาฐานันดรศักดิ์เป็น “สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลเดช” เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2478


         “ข้าพเจ้าจากประเทศไทยไปเกือบเจ็ดปีเต็ม ข้าพเจ้าแทบจะวาดภาพไม่ออกเลยว่าประเทศและผู้คนเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รับสั่งภายหลัง


         เดือนพฤศจิกายน 2481 ได้โดยเสด็จสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จนิวัตประเทศไทยเป็นเวลา 2 เดือนโดยประทับที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต สมเด็จพระอนุชา(พระอิสริยยศช่วงนั้น) เสด็จฯ ไปด้วยทุกหนทุกแห่ง และเมื่อพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จฯ เยือนสำเพ็งย่านธุรกิจของคนจีน สมเด็จฯ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลเดชก็โดยเสด็จด้วย และทรงทำหน้าที่ช่างภาพถวาย



เหตุร้ายไม่คาดฝัน
         อีกไม่กี่วันที่จะเสด็จพระราชดำเนินกลับสวิตเซอร์แลนด์ แต่หมายกำหนดการนั้นต้องเลื่อนออกไปเมื่อสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชเสด็จสวรรคต รัฐสภาลงมติเป็นเอกฉันท์กราบบังคมทูลเชิญสมเด็จฯ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ขึ้นครองราชย์สืบราชสันตติวงศ์ต่อไปเป็นพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี ก่อนที่พระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่จะเสด็จพระราชดำเนินกลับไปทรงศึกษาต่อ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้มีพระราชดำรัสอำลาประชาชนทางวิทยุกระจายเสียงว่า


         “ข้าพเจ้ามีความจำเป็นที่จะต้องจากประเทศไทยและพวกท่านทั้งหลายเพื่อไปศึกษาต่อให้มีความรู้ด้านใหม่”
         จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินกลับไปทรงศึกษาต่อที่สวิตเซอร์แลนด์จนถึงพ.ศ.2488 ทรงรับประกาศนียบัตรทางอักษรศาสตร์จากโรงเรียนยิมนาสคลาซีคกังโตนาล แล้วทรงเข้าศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยโลซานแต่เปลี่ยนสาขาจากวิทยาศาสตร์ไปเป็นสาขาสังคมศาสตร์ นิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์

พระราชินีเฝ้าไข้ใกล้ชิด
         หลังจากทรงสำเร็จการศึกษาจากสวิตเซอร์แลนด์ พระองค์เสด็จฯ เยือนกรุงปารีสทรงพบกับม.ร.ว.สิริกิติ์ กิติยากร ซึ่งเป็นธิดาของเอกอัครราชทูตไทยประจำฝรั่งเศสเป็นครั้งแรก ในขณะนั้นทั้งสองพระองค์มีพระชนมพรรษา 21 พรรษา และ 15 พรรษา ตามลำดับ
         เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2491 ในระหว่างประทับอยู่ต่างประเทศ ขณะที่พระองค์ทรงรถยนต์พระที่นั่งเฟียสทอปอลิโนจากเจนีวาไปยังโลซาน ทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ กล่าวคือรถยนต์พระที่นั่งชนกับรถบรรทุกอย่างแรง ทำให้พระเนตรขวาได้รับบาดเจ็บ


         ม.ร.ว.สิริกิติ์ ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ เยี่ยมพระอาการเป็นประจำจนกระทั่งหายจากพระอาการประชวรอันเป็นเหตุทำให้ทั้ง สองพระองค์ทรงใกล้ชิดกันนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ทรงหมั้นและทรงประกาศการหมั้นอย่างเป็นทางการในวันคล้ายวันเกิดอายุ 17 ปี ของ ม.ร.ว.สิริกิติ์ กิติยากร ในวันที่ 12 สิงหาคม 2492 ณ สถานทูตไทย กรุงลอนดอน ซึ่งพระบิดาของพระคู่หมั้นทรงเป็นเอกอัครราชทูตอยู่ในขณะนั้น และเสด็จนิวัตพระนครในปีถัดมาโดยประทับ ณพระที่นั่งอัมพรสถานต่อมาวันที่ 28 เมษายน 2493 โปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับ ม.ร.ว.สิริกิติ์ กิติยากร ณ พระตำหนักสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวีพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ภายในวังสระปทุม ซึ่งในการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสนี้ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา ม.ร.ว.สิริกิติ์ กิติยากร ขึ้นเป็นสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์

​พระราชพิธีราชาภิเษก
         เดิมทีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตั้งพระราชหฤทัยว่าจะทรงครองราชสมบัติแต่ ในช่วงการจัดงานพระบรมศพของสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชเท่านั้นเพราะยังทรงพระ เยาว์และไม่เคยเตรียมพระองค์ในการเป็นพระมหากษัตริย์มาก่อน ก็เกิดเหตุการณ์หนึ่งขึ้นในขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับรถยนต์ พระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินไปยังท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง เพื่อเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาเพิ่มเติมที่สวิตเซอร์แลนด์ก็ทรงได้ยิน เสียงราษฎรคนหนึ่งตะโกนว่า “ในหลวงอย่าทิ้งประชาชน” จึงทรงนึกตอบในพระราชหฤทัยว่า “ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้าแล้วข้าพเจ้าจะทิ้งประชาชนอย่างไรได้” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงตระหนักในหน้าที่พระมหากษัตริย์ของ พระองค์ดังที่ได้รับสั่งตอบชายคนนั้นในอีก 20 ปีต่อมา


         วันที่ 5 พฤษภาคม 2493 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตาม แบบอย่างโบราณราชประเพณีขึ้น ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณเฉลิมพระปรมาภิไธยตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร สยามมินทราธิราชบรมนาถบพิตร พระราชทานพระปฐมบรมราชโองการว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”



         ในโอกาสนี้มีพระราชดำริว่าตามโบราณราชประเพณีเมื่อสมเด็จพระมหากษัตริยาธิ ราชเจ้าได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษกแล้วย่อมโปรดให้สถาปนาเฉลิม พระเกียรติยศสมเด็จพระอัครมเหสีขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมราชินี ดังนั้นพระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศสถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ขึ้นเป็นสมเด็จ พระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี


         พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชโอรสและพระราชธิดา 4 พระองค์ ดังนี้
         สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ประสูติ ณ นครโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2494 ต่อมาทรงลาออกจากฐานันดรศักดิ์ ปัจจุบันทรงพระนามว่า ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี
         สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณฯ ประสูติ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2495 ต่อมาทรงได้รับการสถาปนาเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร


         สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ ประสูติ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2498 ทรงได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
         สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ประสูติ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2500

ทรงพระผนวช
         พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์ที่จะทรงพระผนวชในบวรพระพุทธศาสนาตามโบราณราชประเพณี เป็นเวลา 15 วัน ระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม–5 พฤศจิกายน 2499 ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ ทรงได้รับฉายาว่า ภูมิพโลภิกขุ หลังจากนั้นเสด็จฯ ไปประทับจำพรรษา ณ พระตำหนักปั้นหยา วัดบวรนิเวศวิหาร ระหว่างที่ทรงพระผนวชนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ด้วยเหตุนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระนามาภิไธย เป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคมปีเดียวกัน


         ระหว่างที่ทรงดำรงสมณเพศพระภิกษุ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิบัติพระราชกิจเช่นเดียวกับพระภิกษุทั้งหลายอย่างเคร่งครัด เช่น เสด็จลงพระอุโบสถทรงทำวัตรเช้า–เย็น ตลอดจนทรงสดับพระธรรมและพระวินัย นอกจากนี้ยังได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจพิเศษอื่นๆ เช่น ในวันที่ 24 ตุลาคม 2499 ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงร่วมสังฆกรรมในพิธีผนวชและอุปสมบทนาคหลวงในพระบรมราชินูปถัมภ์ในวันที่ 28 ตุลาคม 2499 เสด็จฯ ไปทรงรับบิณฑบาตจากพระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน ในโอกาสนี้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทด้วย
         อนึ่งในการทรงพระผนวชครั้งนี้เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2499 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช พระราชอุปัชฌาจารย์ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า และถวายฐานันดรศักดิ์เป็นกรมหลวง

พระราชกรณียกิจ
         ตลอดระยะเวลาการครองราชย์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติพระ ราชกรณียกิจมากมายหลายด้าน อาทิ ด้านศิลปวัฒนธรรมและวรรณคดีพ.ศ. 2503 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญขึ้นมาใหม่หลังจากที่ได้ เลิกร้างไปตั้งแต่พ.ศ.2479 และทรงส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมไทยแขนงอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นภาษาไทย ประวัติศาสตร์ไทย สถาปัตยกรรม จิตรกรรม นาฏศิลป์ การดนตรีและศิลปะอื่นๆ เช่น โปรดเกล้าฯ ให้กรมศิลปากรจัดทำโน้ตเพลงไทยตามระบบสากลและจัดพิมพ์ขึ้นด้วยพระราชทรัพย์ ส่วนพระองค์ โปรดเกล้าฯ ให้อาจารย์และนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิจัยหาระดับเฉลี่ยมาตรฐานของเครื่องดนตรีไทย ทรงสนับสนุนให้มีการจัดตั้งสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย


         ด้านวรรณศิลป์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์บทความทรงแปล หนังสือ เช่น นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ ติโต พระมหาชนก และ พระมหาชนกฉบับการ์ตูน เรื่องทองแดงเป็นพระราชนิพนธ์เกี่ยวกับคุณทองแดงสุนัขทรงเลี้ยง เป็นต้น
         ด้านการพัฒนาชนบททรงพัฒนาชนบทในรูปโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมี จุดประสงค์คือการพัฒนาชนบทเพื่อให้ราษฎรในชนบทได้มีความเป็นอยู่ตลอดจน สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงครอบครัวให้ดีขึ้นแนวพระราชดำริที่สำคัญในเรื่องการ พัฒนาชนบทคือมีพระราชประสงค์ช่วยให้ชาวชนบทสามารถพึ่งตนเองได้โดยการสร้าง พื้นฐานหลักที่จำเป็นต่อการผลิตให้แก่ราษฎรเหล่านั้นทรงส่งเสริมให้ชาวชนบท มีความรู้ในการประกอบอาชีพตามแต่ละท้องถิ่นนอกจากนี้ยังทรงหาทางนำเอา วิทยาการสมัยใหม่มาประยุกต์กับภูมิปัญญาชาวบ้าน


         ด้านการเกษตรและชลประทานเขื่อนภูมิพลในด้านการเกษตรจะทรงเน้นการค้นคว้า ทดลองและวิจัยหาพันธุ์พืชใหม่ๆ ตลอดจนการศึกษาแมลงศัตรูพืชและพันธุ์สัตว์ต่างๆ ที่เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งแต่ละโครงการจะเน้นให้สามารถนำไปปฏิบัติได้จริงนอกจากนี้ยังทรงพยายาม ไม่ให้เกษตรกรยึดติดกับพืชผลทางการเกษตรเพียงอย่างเดียวแต่เกษตรกรควรมี รายได้จากกิจกรรมอื่นด้วยเพื่อจะได้พึ่งตนเองได้ในระดับหนึ่ง
         ด้านการแพทย์โครงการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในระยะแรกล้วนแต่เป็น โครงการด้านสาธารณสุขในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรตามท้องที่ ต่างๆจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้มีคณะแพทย์ที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญใน แต่ละสาขาจากโรงพยาบาลต่างๆและล้วนเป็นอาสาสมัครพร้อมด้วยเวชภัณฑ์และ เครื่องมือแพทย์พร้อมให้การรักษาพยาบาลราษฎรผู้ป่วยไข้


         นอกจากนั้นยังมีโครงการทันตกรรมพระราชทานซึ่งเป็นพระราชดำริให้ทันตแพทย์ อาสาสมัครเดินทางออกไปช่วยเหลือบำบัดโรคเกี่ยวกับฟันตลอดจนสอนการรักษา อนามัยของปากและฟันโดยไม่คิดมูลค่านอกจากนั้นหน่วยแพทย์หลวงยังจัด เจ้าหน้าที่ออกเดินทางไปรักษาราษฎรผู้ป่วยเจ็บตามหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลออก ไปอีกด้วย
         ด้านการศึกษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งมูลนิธิอานันทมหิดลเพื่อเป็นการถวายพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เพื่อสนับสนุนทางด้านคัดเลือกบัณฑิตในสาขาวิชาต่างๆ ไปศึกษาต่อต่างประเทศ โดยพระองค์พระราชทานทุนให้ตลอดจนดูแลเกี่ยวกับความเป็นอยู่ในต่างประเทศ นั้นๆ อีกด้วย


         ส่วนในประเทศทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการจัดการบริหารทางการศึกษาแบบให้เปล่าตั้งแต่ระดับ ชั้นประถมศึกษาจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลายในลักษณะทั้งอยู่ประจำและไปกลับ แบ่งเป็นโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์จำนวน 26 โรงเรียนโรงเรียนราชประชานุเคราะห์จำนวน 14 โรงเรียน


โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ คลิกดูเพิ่มเติม http://www.ohm.go.th/th/monarch/project-royal
         ทรงจัดตั้งโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริจำนวนมากตัวอย่างโครงการที่ สำคัญ เช่น มูลนิธิชัยพัฒนาก่อตั้งเมื่อ 14 มิถุนายน 2531 เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและโครงการ พัฒนาอื่นๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชนในด้านเศรษฐกิจและสังคมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและ สามารถพึ่งพาตนเองได้
         มูลนิธิโครงการหลวงก่อตั้งเมื่อพ.ศ.2512 เพื่อส่งเสริมการปลูกพืชเมืองหนาวแก่ชาวเขาเพื่อเป็นการหารายได้ทดแทนการปลูกฝิ่น


         โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาก่อตั้งเมื่อพ.ศ.2504 มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานเพื่อศึกษาทดลองและวิจัยหาวิธีแก้ไขปัญหา เกี่ยวกับงานทางด้านการเกษตรต่างๆเช่นการปลูกข้าวการเลี้ยงโคนมการเพาะ พันธุ์ปลานิลและอื่นๆ อีกมากมาย
         โครงการแก้มลิงก่อตั้งขึ้นเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2538 เพื่อแก้ปัญหาอุทกภัยหลังเกิดอุทกภัยในประเทศไทย พ.ศ.2538 โดยให้จัดหาสถานที่เก็บกักน้ำตามจุดต่างๆ ในกรุงเทพมหานครเพื่อรองรับน้ำฝนไว้ชั่วคราวเมื่อถึงเวลาที่คลองพอจะระบาย น้ำได้จึงค่อยระบายน้ำจากส่วนที่กักเก็บไว้ออกไป
         โครงการฝนหลวงก่อตั้งเมื่อพ.ศ.2512 เพื่อแก้ปัญหาเดือดร้อนทุกข์ยากของราษฎรและเกษตรกรที่ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคและการเกษตร


         โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนมีฉบับปกติ 37 เล่มฉบับเสริมการเรียนรู้ 19 เล่มเริ่มพิมพ์ครั้งแรกในพ.ศ.2516 เป็นสารานุกรมไทยแบบเป็นชุดเน้นความรู้ที่เกิดขึ้นและใช้อยู่ในประเทศไทย แต่ละเล่มรวบรวมเนื้อเรื่องจากหลากหลายสาขาวิชาเนื้อหาของเรื่องต่างๆ เรียบเรียงให้เหมาะสมกับเด็กรุ่นเล็กเด็กรุ่นกลางและเด็กรุ่นใหญ่
         โครงการแกล้งดินเพื่อแก้ปัญหาดินเปรี้ยวหรือดินเป็นกรดโดยมีการขังน้ำไว้ใน พื้นที่จนกระทั่งเกิดปฏิกิริยาเคมีทำให้ดินเปรี้ยวจัดจนถึงที่สุดแล้วจึง ระบายน้ำออกและปรับสภาพฟื้นฟูดินด้วยปูนขาวจนกระทั่งดินมีสภาพดีพอที่จะใช้ ในการเพาะปลูกได้


         กังหันชัยพัฒนาสร้างต้นแบบได้ครั้งแรกในปี พ.ศ.2532 เป็นกังหันน้ำเพื่อบำบัดน้ำเสียด้วยวิธีการเติมอากาศ
         พระสมเด็จจิตรลดาหรือพระกำลังแผ่นดินเป็นพระเครื่องที่พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างด้วยพระองค์เองพระราชทานแก่ทหารตำรวจข้าราชการและ พลเรือนในช่วงระหว่างพ.ศ.2508-2513มีทั้งสิ้นประมาณ 2,500 องค์

เสด็จสวรรคต
         ทรงเป็นกษัตริย์ที่ทรงครองราชย์ยาวนานที่สุดในโลก


         พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์ยาวนานตั้งแต่ พ.ศ.2489 จนถึง พ.ศ.2559 ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย และของโลก



พระบรมราโชวาทบางส่วน
"...สิ่งสำคัญในการปกครองก็คือ  บ้านเมืองนั้นมีทั้งคนดีและคนไม่ดี
ไม่มีใครจะทำให้คนทุกคนเป็น คนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุขเรียบร้อย จึงไม่ใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี  หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง  และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้..."


"...คุณธรรมที่ทุกคนควรจะศึกษาและน้อมนำมาปฏิบัติ มีอยู่สี่ประการ. ประการแรก คือการรักษาสัจ ความจริงใจต่อตัวเอง ที่จะประพฤติปฏิบัติ แต่สิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรม. ประการที่สอง คือการรู้จักข่มใจตนเอง ฝึกใจตนเองให้ประพฤติอยู่ในความสัจ ความดีนั้น. ประการที่สาม คือการอดทน อดกลั้น และอดออม ที่จะไม่ประพฤติล่วงความสัจสุจริต ไม่ว่าจะด้วยเหตุประการใด. ประการที่สี่ คือการรู้จักละวางความชั่ว ความทุจริต และรู้จักสละประโยชน์ส่วนน้อยของตนเพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่ของบ้านเมือง. คุณธรรมสี่ประการนี้ ถ้าแต่ละคนพยายามปลูกฝังและบำรุงให้เจริญงอกงามขึ้นโดยทั่วกันแล้ว จะช่วยให้ประเทศชาติบังเกิดความสุข ความร่มเย็น และมีโอกาสที่จะปรับปรุงพัฒนาให้มั่นคงก้าวหน้าต่อไปได้ดังประสงค์..."
คลิกดูเพิ่ม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น